Custom Search

นมเปรี้ยว


นมเปรี้ยวเกิดจากการหมักจุลินทรีย์ในนมจนเกิดรสเปรี้ยว อาจเติมสารปรุงแต่ง สี กลิ่น รส หรือ สารอย่างอื่นที่จำเป็นต่อกรรมวิธีการผลิต บางคนเข้าใจผิดว่านมเปรี้ยวกับนมบูดเหมือนกัน เพราะเห็นว่ามีรสเปรี้ยวเช่นเดียวกัน นมบูด เกิดจากเชื้อโรคที่กินไม่ได้ไปทำปฏิกิริยากับนม เมื่อกินนมบูดเข้าไป จะมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เพราะอาหารเป็นพิษ จุลินทรีย์ในนมเปรี้ยวเป็นจุลินทรีย์ที่พบตามปกติในทางเดินอาหาร ไม่สร้างสารพิษ และไม่ทำให้เกิดโรค ได้แก่ จุลินทรีย์ในกลุ่มแลคโตบาซิลลัส เป็นจุลินทรีย์ในกลุ่มที่เรียกว่า โปรไบโอติคส์ ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีชีวิต สามารถก่อประโยชน์ต่อร่างกายของสิ่งมีชีวิตที่มันอาศัยอยู่โดยการปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในร่างกายของผู้บริโภค

ประโยชน์จากจุลินทรีย์ในนมเปรี้ยว
1. รักษาอาการท้องเสีย
ในลำไส้ของมนุษย์ประกอบด้วยจุลินทรีย์นานาชนิด บ้างก็เป็นประโยชน์ บางชนิดก็ให้โทษ สำหรับคนสุขภาพดี แข็งแรง จุลินทรีย์ทั้งหมดในร่างกายจะอยู่ในสภาพสมดุล นี่คือ ระบบนิเวศน์ของลำไส้ แต่วันใดก็ตามที่ระบบนิเวศน์ในร่างกายเสียสมดุล จุลินทรีย์ที่ดีมีจำนวนลดลง จุลินทรีย์ที่ให้โทษขยายจำนวนมากขึ้น จนมีจำนวนมากกว่าจุลินทรีย์ที่ดีก็จะทำให้เกิดอาการท้องเสียขึ้นมาได้ ถ้าเป็นเช่นนี้ การดื่มนมเปรี้ยวที่เกิดจากกรรมวิธีการหมักจะเป็นนมเปรี้ยวที่มีทั้งกรดแลคติก และเชื้อจุลินทรีย์ที่มีชีวิตอยู่ในน้ำนมทุกครั้งที่เราทานนมเปรี้ยว เราไม่เพียงแต่ได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์เท่านั้น แต่เรายังได้รับจุลินทรีย์ที่ยังมีชิวิตจำนวนหนึ่งเข้าสู่ร่างกายด้วย จุลินทรีย์เหล่านี้จะช่วยปรับสภาพของลำไส้ให้กลับมาอยู่ในภาวะสมดุลอีกครั้งหนึ่ง และทำให้อาการท้องเสียนี้หายไปได้ และยังสามารถรักษาโรคท้องเดิน และแผลในกระเพาะอาหารได้ ซึ่งจุลินทรีย์ที่มีชิวิตนี้ คือ ตัวการสำคัญที่ทำให้นมเปรี้ยวมีคุณค่าต่อร่างกายต่างจากนมเปรี้ยวเทียมที่เติมกรดให้มีเพียงแต่รสเปรี้ยวเท่านั้น
2. ยกระดับภูมิคุ้มกันโรค
จุลินทรีย์ในนมเปรี้ยวไม่เพียงป้องกันและรักษาโรคได้ด้วยฤทธิ์เป็นยาฆ่าเชื้อเท่านั้น แต่ยังมีคุณสมบัติกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายให้สูงขึ้นด้วย และยังช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยเชื้อแลคโตบาซิลัสจะช่วยควบคุมปริมาณโคเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ในเลือดได้ นอกจากนี้เชื้อแลคโตบาซิลัสยังช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้ โดยเชื้อแลคโตบาซิลัสสามารถจับกับสารก่อมะเร็ง จับกับโลหะหนัก และกรดน้ำดีซึ่งมีพิษ ยับยั้งกลุ่มแบคทีเรียในลำไส้ที่สร้างสารไนเตรทได้ (สารไนเตรทเป็นสารก่อมะเร็งตัวหนึ่ง) ช่วยเปลี่ยนสารฟลาโวนอยด์จากพืชให้เป็นสารต้านมะเร็ง)
3. ควบคุมจุลินทรีย์ในลำไส้และยับยั้งเชื้อโรคของอาหารเป็นพิษ
ในนมเปรี้ยวมีการสะสมของสารเมตาบอไลท์ที่จุลินทรีย์ที่ผลิตกรดแลคติกขับออกมา สารเหล่านี้มีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ไม่ต้องการในลำไส้ได้หลายชนิด เช่น Salmonella และ E. coli ทำให้พวกจุลินทรีย์เหล่านี้ไม่สามารถทำอันตรายต่อร่างกายเราได้ ดังนั้น เราควรจะรับประทานนมเปรี้ยวอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มีกลุ่มจุลินทรีย์ที่ดีอาศัยอยู่ภายในลำไส้
4. ช่วยให้ย่อยง่าย
จุลินทรีย์ในนมเปรี้ยว จะสร้างเอ็นไซม์ที่สามารถย่อยอาหารได้มากกว่าปกติ เช่น เอ็นไซม์ย่อยโปรตีน (Protease) จะช่วยให้การย่อยเคซีนซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีอยู่มากในนม ช่วยให้มีการหลั่งน้ำลายและเอ็นไซม์ในกระเพาะอาหารและตับอ่อนมากขึ้น ช่วยให้การเคลื่อนไหวของลำไส้ดีขึ้น จุลินทรีย์เหล่านี้ยังสร้างเอ็นไซม์ย่อยน้ำตาลแลคโตส (B-galactosidase) ซึ่งสามารถเปลี่ยนน้ำตาลแลคโตส ซึ่งคนเราทั่วๆ ไปจะขาดเอ็นไซม์นี้ หลังจากหย่านม ทำให้บางคนเมื่อทานนมแล้วจะมีอาการท้องเสีย เนื่องจากน้ำตาลแลคโตสไม่ถูกย่อย แต่จุลินทรีย์ที่เติมลงในนมเปรี้ยวนี้จะไปช่วยย่อยน้ำตาลแลคโตส ทำให้ผู้บริโภคไม่เกิดอาการท้องเสีย นอกจากนี้จุลินทรีย์ที่สร้างกรดแลคติกนี้ยังช่วยทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมและธาตุเหล็กได้ดีขึ้น
5. เป็นแหล่งวิตามิน บี 1 และวิตามิน เค
แบคทีเรียในนมเปรี้ยวยังสามารถสังเคราะห์วิตามิน บี 1 (ไรโบฟลาวิน) และวิตามิน เค ในลำไส้ ซึ่งเป็นวิตามินที่มีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกาย ป้องกันโรคเหน็บชา และช่วยในการแข็งตัวของเลือด


คำแนะนำในการบริโภคนมเปรี้ยว
การบริโภคนมเปรี้ยวจะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่นมเปรี้ยวให้โทษได้เหมือนกัน ถ้าในกระบวนผลิตไม่ได้มาตรฐาน เกิดการปนเปื้อนจากเชื้อโรค และสารต่างๆ นอกจากนั้นการบริโภคให้หมดก่อนวันหมดอายุ หากเปิดภาชนะบรรจุแล้วบริโภคไม่หมดในวันเดียว ควรเก็บไว้ในตู้เย็น และปิดฝาให้มิดชิด การสังเกตลักษณะเป็นก้อนๆ ที่ก้นขวด หรือภาชนะบรรจุ ถ้าเป็นโยเกิร์ตจะต้องอยู่ในลักษณะกึ่งแข็งกึ่งเหลว กลิ่นและรส ไม่ผิดไปจากปกติ (ยกเว้นกลิ่นและรสที่ปรุงแต่งลงไป) บางคนทานนมเปรี้ยวเป็นอาหารหลัก เพื่อลดความอ้วน อาจได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน นอกจากนี้นมเปรี้ยวที่ผลิตจากนมสด และมีการปรุงแต่งด้วยน้ำตาล จะมีแคลอรี่สูงกว่านมสดรสธรรมชาติ คุณค่าทางโภชนาการของนมเปรี้ยว ขึ้นอยู่กับชนิดของนมที่นำมาใช้ และสารปรุงแต่งที่เติมลงไป ถ้าทำมาจากนมสดคุณค่าจะเท่ากับนมสด ถ้าทำมาจากหางนม ที่ได้สกัดไขมันออก จะมีคุณค่าทางโภชนาการน้อยลงไป ไม่ควรรับประทานนมเปรี้ยวเป็นอาหารหลัก แต่ควรรับประทานเป็นอาหารเสริม เพื่อการมีสุขภาพที่ดีของตัวท่านจึงจะถูกต้องเหมาะสม


ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://www.dss.go.th